UDDC –สำนักผังเมือง กทม. เปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนแม่บทฯ ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ‘ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ’ เผยรัฐลงทุนไม่เพียงพอทำพื้นที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพ ด้าน ผอ.สำนักผังเมือง เตรียมนำร่อง ‘ตลาดน้อย-เยาวราช’ แห่งต่อไป ยันอนาคตไม่ล้มโครงการ หากได้ผู้ว่าฯ คนใหม่
วันที่ 20 มิถุนายน 2558 สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center:UDDC) จัดแถลงข่าว ‘งานประชาพิจารณ์โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน’ เนื่องในโอกาสกรุงเทพฯ ครบรอบ 250 ปี ในปี 2575 ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ
โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นการดำเนินการนำร่องภายใต้โครงการจัดทำแผนแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน (โครงการกรุงเทพฯ 250) ที่มีวัตถุประสงค์ศึกษาพัฒนาผังแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าครอบคลุม 17 เขตของกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่นำยุทธศาสตร์เทคนิคการมองภาพอนาคต (Foresight) มาประยุกต์ใช้ โดยโครงการดำเนินมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2558
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวถึงภาพรวมโครงการฯ ว่า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2552 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายผนวกย่านกะดีจีน-คลองสานไว้ในแผนฟื้นฟูกรุงเทพฯ ซึ่งสาเหตุที่เลือกย่านนี้เพราะมีความต่อเนื่องมากที่สุดในเชิงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และมีมรดกวัฒนธรรมที่มีรากฐานจาก 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม จำนวน 120 แห่ง ภายในพื้นที่ 2 ตร.กม.
“นิตยสาร Geo Voyage ของฝรั่งเศส ได้เขียนบทความ เรื่อง กะดีจีน-คลองสาน ต้นกำเนิดกรุงเทพฯ มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุถึงความเป็นมา ความหลากหลายของศาสนาและชาติพันธุ์ ซึ่งยังพบเห็นได้ในย่านนี้” ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าว และว่า ย่านนี้มีศาสนาที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในแง่กายภาพ ผู้นำศาสนายังเป็นศูนย์รวมจิตใจ และสามารถมองเห็นแม่น้ำและลำคลองที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญ
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมรดกวัฒนธรรมของเอกชนกระจายตัว บ้านอายุ 50-80 ปีขึ้นไป โดยสถานที่บางแห่งได้รับการฟื้นฟูแล้ว ยกตัวอย่าง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ตลอดจนประวัติศาสตร์ความทรงจำ อาหารต่าง ๆ ที่สำคัญ ย่านนี้มีต้นทุนทางสังคมสูง คนในพื้นที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน
“ศักยภาพของย่านกะดีจีน-คลองสานยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เพราะการลงทุนของภาครัฐไม่เพียงพอถนนหลายแห่งยังไม่ได้รับการออกเเบบที่ดี การส่งเสริมคุณค่าทางมรดกวัฒนธรรมน้อย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ดังนั้นแนวโน้มมีการเคลื่อนย้ายของคนในพื้นที่ออกไปจึงเกิดขึ้น โดยเขตธนบุรี –3.0% ต่อปี และเขตคลองสาน -2.7% ต่อปี หากยังไม่ดำเนินการฟื้นฟูพัฒนา คาดว่า คนดั้งเดิมจะหายไปกว่าครึ่งและถูกแทนที่ด้วยคนใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า”
ตัวอย่างการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน
ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ระบุถึงภาพอนาคตของย่านกะดีจีน-คลองสาน ทั้งหมด 9 ภาพ มองโดยชุมชนและภาคีเครือข่ายพัฒนา ได้แก่ ภาพที่ 1 พื้นที่พหุวัฒนธรรมระดับประเทศ ภาพที่ 2 การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาพที่ 3 กลุ่มคนที่หลากหลาย ภาพที่ 4 การเพิ่มขึ้นของความหนาแน่นในการใช้ที่ดิน ภาพที่ 5 ความหลากหลายพื้นที่ริมน้ำ ภาพที่ 6 มรดกอาหารสำเร็จรูป ภาพที่ 7 สังคมเสมือนของย่าน ภาพที่ 8 กฎหมายเฉพาะของย่าน และภาพที่ 9 การปรับตัวของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะวัดและโรงเรียน
ทั้งนี้ จาก 9 ภาพอนาคต นำมาสู่วิสัยทัศน์ให้ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นย่านประวัติศาสตร์ริมน้ำสร้างสรรค์ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีวิสาหกิจชุมชน กลุ่มคนหลากหลาย ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ
1. เป็นชุมชนพักอาศัยริมน้ำที่มีความหนาแน่นสูง แต่คุณภาพดี
2.พัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยว เนื่องจากมีมรดกวัฒนธรรม 120 แห่ง แต่รูปแบบเป็นลักษณะรีบมารีบไป เพราะยังขาดร้านกาแฟ ร้านอาหารที่เพียงพอ ทำให้ขาดรายได้กระจายสู่ชุมชน
3.สร้างต้นแบบธุรกิจจากมรดกท้องถิ่น จากเดิมมีฐานอยู่แล้วในชุมชนก็จะพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ร้านค้า เพื่อนำสินค้ามาวางจำหน่ายได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยว
4.ชุมชนสร้างสรรค์ร่วมสมัย อาจเป็นคนนอกเข้ามาฝังตัวอยู่ในย่านนี้แล้วพัฒนาพื้นที่เก่าหรือถูกทิ้งร้าง ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในย่านได้
5.พื้นที่เชื่อมโยงศักยภาพร่วมกัน ย่านกะดีจีน ย่านท่าดินแดง และย่านคลองสาน มีการพัฒนาโครงข่ายการเดินทาง โดยเฉพาะจักรยาน พัฒนาพื้นที่สาธารณะยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฟื้นฟูระบบการขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงกับการขนส่งทางบกอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อถามถึงขั้นตอนหลังเสร็จสิ้นประชาพิจารณ์ร่างแผนแม่บทฯ ย่านกะดีจีน-คลองสาน ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า เราทำหน้าที่เป็นผู้รับออกแบบบ้าน ซึ่งวันนี้เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย และจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดกลับไปปรับปรุงร่างแผนแม่บทฯ เมื่อเสร็จสิ้นก็นำจัดทำแบบก่อสร้าง คำนวณงบประมาณ ก่อนจะส่งไปยังสำนักผังเมือง กรุงเทพฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินโครงการต่อไป
ด้าน น.ส.ปัญญภัสสร์ นพพันธ์ รอง ผอ.สำนักผังเมือง กรุงเทพฯ กล่าวถึงโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านนำร่องต่อไปในอนาคต คือ ย่านตลาดน้อย-เยาวราช ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากระบบรถไฟฟ้า ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและสร้างความไม่สบายใจของประชาชนว่าจะรองรับอย่างไร ทั้งนี้ ยังวางแผนไปยังเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย นางเลิ้ง และเทเวศร์ ส่วนจะเวนคืนที่ดินด้วยหรือไม่ เพื่อรองรับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการกำหนดกติการ่วมกัน
เมื่อถามว่าโครงการดังกล่าวอาจถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในอนาคตหรือไม่ รอง ผอ.สำนักผังเมือง กล่าวว่า แม้ผู้ว่าฯ จะมีนโยบายส่วนตัว หากข้อเท็จจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องยาก และสำนักผังเมืองก็พยายามดำเนินการทุกโครงการให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประชาชน โดยต้องถูกต้องตามหลักวิชาการและถูกใจ เมื่อใดที่ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลง สมัยหน้าคงไม่ได้รับเลือก .
ขอขอบคุณที่มา : http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/39392-thaireform2006158.html