สิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯในอนาคตอันใกล้คือ โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากความจำกัดในแง่ของขนาดพื้นที่ ทำให้การฟื้นฟูพื้นที่เก่าในเขตเมืองชั้นใน จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ประโยชน์ที่ดินและพื้นที่เมืองเก่าเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรกรุงเทพฯใหม่ (Land & Space for New Bangkokian) อย่างมีประสิทธิภาพ
ในอนาคตนั้น มีแนวโน้มว่าปริมาณของประชากรผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะผลักดันให้เกิดแนวโน้มการใช้ที่ดิน ในรูปแบบของที่อยู่อาศัยแนวตั้งมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุน ทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง รวมทั้งมีการพัฒนาอาคารเก่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยรวมแบบ Sharing housing (Space/time) หรือ การดัดแปลงอาคารเก่าขนาดเล็กเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำงานในรูปแบบ SOHO (Small office home office) เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ รวมทั้ง การเกิดพื้นที่สาธารณะทางแนวตั้งรูปแบบใหม่ เพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตคนเมือง อาทิ สวนสาธารณะลอยฟ้า หอศิลป์ลอยฟ้า โบสถ์ลอยฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านศูนย์ราชการเดิมภายในเมืองสู่การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆที่มีความเหมาะสมกับบริบทการพัฒนามากกว่า พร้อมๆ กันกับการเปลี่ยนแปลงย่านเก่า และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยการแทนที่ของกิจกรรมใหม่และคนกลุ่มเล็กที่มีบทบาทชัดเจนขึ้นในสังคม เช่น กลุ่มศิลปิน หรือชาวต่างชาติ เป็นต้น
เครดิตภาพ: http://ht.ly/PpYjs , http://ht.ly/PpYmq , http://ht.ly/PpYow