ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เผยสาเหตุฟื้นฟูเมืองเก่าพื้นที่ชั้นในกทม. ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจของสังคมให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดอนาคตกทม.เมืองใหม่ 10 เทรนในอีก17ปีข้างหน้า
16 มิถุนายน 2558 สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดประชุมพิจารณาผังยุทธศาสตร์การฟื้นฟูย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานครในวาระครบรอบ 250 ปี ณ ห้องประชุมจรัญ-คุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ชั้น 9 อาคารสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยมี นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวถึงที่มาของโครงการกรุงเทพมหานคร 250 ปี เกี่ยวกับแนวโน้มของการพัฒนาเมืองที่สำคัญ ซึ่งคือการฟื้นฟูเมือง ปรับปรุงศักยภาพในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน โดยมีพื้นที่นำร่อง ย่านกะดีจีน – คลองสาน ซึ่งมีความยาวนานและต่อเนื่องของทางประวัติศาสตร์มีย่านเมืองเก่าทั้งหมด17เขต แบ่งได้ 75 ย่าน โดยมุ่งเน้นแนวคิด 7 ย่านเมืองเก่า ดังนี้ 1.เมือง เก่ารัตนโกสินทร์ 2.ศูนย์กลางเศรษฐกิจ(พระราม1/พระราม4) 3.ดุสิต-พญาไท 4.บางคอแหลม-ยานนาวา 5.เมืองเก่าธนบุรี 6.จรัญสนิทวงศ์ 7.ตากสิน จะสามารถเชื่อมโยงย่านต่างๆให้เข้าหากันได้อย่างไร จึงนำมาสู่การฟื้นฟูเมืองกทม.
ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องมีการฟื้นฟูเมืองชั้นในเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความหนาแน่นมากขึ้น
“หนาแน่นในที่นี้คือไม่ใช่ความแออัด แต่เป็นการที่ทำให้คนจำนวนมากอยู่ด้วยกันได้ไม่แออัด ส่วนโอกาสของการฟื้นฟูเมืองเก่า คือ โอกาสในการสร้างเศรษฐกิจสังคมของเมือง พื้นที่ชั้นในได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะลดการรุกล้ำพื้นที่เกษตร ลดความจำเป็นในการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิง ลดปัญหาการจราจร และที่สำคัญดุลยภาพใหม่จะเกิดขึ้น”ผศ.ดร.นิรมล กล่าว และว่า ส่วนความหลากหลายมาจากย่านแต่ละย่านที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และ ชีวิตความเป็นอยู่ หากมีการฟิ้นฟูพื้นที่เมืองชั้นในย่านเมืองเก่าให้มีประสิทธิภาพแล้วการลงทุน การจัดการโครงสร้างพื้นฐานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและย่าน สามารถมาหาสู่กันได้มากยิ่งขึ้นจะนำมาสู่ความหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวถึงแนวโน้มอนาคตของคนในกรุงเทพมหานครอีก 17 ปีข้างหน้าในปี 2575 ว่า ภาพอนาคตจากผลการศึกษาเบื้องต้น 10 เทรนด์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2575 ดังนี้
1.ชีวิตที่เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนเมือง
2.รางเชื่อมเมืองพัฒนารอบสถานี และพัฒนาระบบเสริมให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3.อิสระแห่งการทำงาน สามารถทำงานที่ไหนก็ได้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของย่านออฟฟิส
4.การบริการสาธารณะที่สะดวกให้บริการครบวงจรและกระจายอยู่ในทุกพื้นที่หลาหหลายช่องทาง
5.บูรณาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเน้นการท่องเที่ยวแนวใหม่และนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
6.อุตสาหกรรม ใหม่ที่หลากหลายในใจกลางเมืองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตผักเขียวใจกลางเมือง อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ตอบสนองกลุ่มคนต่างๆ เป็นต้น
7.แหล่งพลังงานจะมีความหลากหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
8.การใช้ประโยชน์ที่ดินและพื้นที่รับรองโครงสร้างประชากรกทม.ใหม่
9.ความปกติใหม่ของสังคมชีวิตคนเมือง สภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้สังคมเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น
10.การพัฒนาอย่างทั่วถึง แนวโน้มสำคัญของประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานเข้าถึงคนทุกกลุ่มเพื่อที่ส่งเสริม โอกาสทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนกลุ่มนั้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศการพิจารณาผังยุทธศาสตร์การฟื้นฟูย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานครในวาระครบรอบ 250 ปี แบ่งกลุ่มออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเพื่อเปิดโอกาสในการทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทราบข้อมูลหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งข้อเสนอแนะสถานที่ต่างๆ ที่ยังขาดตกบกพร่องเพื่อที่ทางศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จะนำไปศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมพื้นที่ 17 เขต ย่านเมืองเก่ากรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตดุสิต เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และ เขตบางพลัด
ขอขอบคุณที่มา : http://www.isranews.org/isranews-news/item/39297-city_39297.html