27 Jul 2015
พัฒนาการของชุมชนเมืองกรุงเทพฯ จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ มีการขยายตัวขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว และยังคงขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รูปแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมานั้น มุ่งเน้นไปที่ “การขยายเมืองแนวราบ” (Suburbanization) เป็นหลัก โดยเริ่มจากประมาณช่วงปี พ.ศ.2450 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาเมือง การขยายตัวในช่วงนี้ยังมีไม่มากนัก โดยจะอยู่บริเวณเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ ต่อมาในช่วง พ.ศ.2500 ตัวเมืองกรุงเทพฯได้ขยายมากขึ้น จนกระจายไปยังเขตชานเมืองโดยรอบ ทั้งด้านทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก จนในช่วง พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มอพยพออกไปสู่ชานเมือง ทำให้พื้นที่ชานเมืองมีการขยายตัวขึ้น ในขณะที่พื้นที่กลางเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางเดิมเริ่มเสื่อมโทรม จวบจนในช่วง พ.ศ.2540 จากการมาถึงของระบบขนส่งมวลชนระบบราง ได้ทำให้ผู้คนเริ่มย้ายกลับเข้าสู่พื้นที่เมืองชั้นในมากขึ้น พร้อมกับการขยายตัวออกไปในชานเมืองก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

จากรูปแบบการขยายตัวของกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาด้านคุณภาพชีวิต จากมลภาวะที่เพิ่มขึ้นจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไปจากการเดินทางจากบ้านชานเมือง เพื่อมาทำงาน-เรียนในเมือง ปัญหาด้านระบบนิเวศ จากการกระจายตัวของพื้นที่เมืองที่รุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีโดยรอบและปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ดาดแข็ง ทำให้พื้นที่รับน้ำของเมืองลดลง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จากความสิ้นเปลืองของการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในพื้นที่ชานเมืองซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรต่ำ รวมทั้งปัญหาทางด้านสังคม จากความเหลื่อมล้ำและขาดความเท่าเทียมกันของคนกลุ่มต่างๆ ในเมือง เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในทุกวันนี้

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต จึงควรมีการเร่งวางแผนเพื่อฟื้นฟูเขตพื้นที่ชั้นใน กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะขยายตัวจนกลายเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่เกินกำลังจะควบคุมได้

เครดิตภาพ: http://yannawariverfront.org/

share