สำนักผังเมือง-ศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง-คนเมืองหลายพื้นที่ ร่วมนำเสนอแผนพัฒนา‘กรุงเทพฯ 250 ²’ ฟื้นฟูย่านเมืองเก่า 3 ย่าน รอบเกาะรัตนโกสินทร์-โยธี ราชวิถี-ทองหล่อ เอกมัย เพื่อเป็นต้นแบบเมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกคน
24 มิ.ย 2559 สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือยูดีดีซี (UddC: Urban Design and Development Center) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน ‘กรุงเทพฯ 250 ยกกำลังสอง’ ในโอกาสกรุงเทพกำลังจะครบรอบ 250 ปี ที่สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการยูดีดีซี และทีมงาน นำเสนอผลลัพธ์การออกแบบ และความคืบหน้าในการฟื้นฟูพื้นที่นำร่องย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ใน 3 พื้นที่นำร่องได้แก่ ย่านท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าเตียน, ย่านโยธี ราชวิถี และ ย่านทองหล่อ เอกมัย นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการนำเสนอโครงการทางเท้าสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรรอบสถานีขนส่งมวลชน โดยมีจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานในการเปิดงาน
ท่าพระจันทร์- ท่าช้าง- ท่าเตียน อนุรักษ์อย่างไร ให้เข้าถึงทุกคน
ในเวทีมีการนำเสนอว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มเมืองเก่ารัตนโกสินทร์ตามแผนฟื้นฟูเมืองกรุงเทพฯ 250 และเป็นหนึ่งในย่านนำร่องของโครงการ 250 ยกกำลังสอง โดยเน้นหนักในเรื่องการเข้าถึงพร้อมอนุรักษ์ลักษณะของเมืองเก่า ปัญหาที่พบในปัจจุบันได้แก่ การลดลงของประชากรและการหดตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องหลังใช้แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ปี 2538, การเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มากและกระจุกตัว รวมไปถึงโอกาสที่มีน้อยลงในการพัฒนาย่านนี้ไปสู่ระบบราง นอกจากนี้มีเพียงร้อยละ 4 ของพื้นที่ริมน้ำ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยกว่าร้อยละ 65 เป็นพื้นที่ของภาครัฐที่ล้อมรั้วปิดมิดชิด ส่วนร้อยละ 21 เป็นพื้นที่ของศาสนสถาน แม้พื้นที่นี้จะมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีความแออัดสูงโดยอยู่กระจุกกันเพียงพื้นที่แคบๆ
แผนการอนุรักษ์ย่านดังกล่าวมุ่งเน้นที่จะจัดการใน 5 เรื่องได้แก่
1.การส่งเสริมความเชื่อมโยงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเมือง โดยนอกจากการอนุรักษ์แล้ว ยังต้องกำหนดผังเมืองที่แน่นอนชัดเจน มีการกำหนดความสูงของอาคาร เพื่อให้แหล่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ถูกแวดล้อมด้วยอาคารสูง
2.การส่งเสริมคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของย่าน ทั้งวัด วังและชุมชน โดยการเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเล่าประวัติความเชื่อมโยงระหว่างกรุงธนฯ-กรุงเทพฯ
3.การรักษาพลวัตและความหลากหลายของกลุ่มคนและชุมชนการค้า โดยการสนับสนุนให้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ใช้ชีวิตและทำมาหาเลี้ยงชีพในพื้นที่เดียวกันอย่างกลมกลืน
4.การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะริมน้ำ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ริมน้ำเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงได้ฟรีโดยบุคคลทั่วไป ทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวมีพื้นที่ริมน้ำที่ยาวถึง 2.4 กิโลเมตร แต่พื้นที่กลับไม่สามารถใช้งานได้ โดยพบว่าส่วนหนึ่งถูกทำเป็นที่จอดรถ ราชนาวีสโมสร หรือพื้นที่ส่วนตัวอื่นๆ จึงต้องการขอความร่วมมือเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้กลายเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่ส่วนกลาง
5.การจัดการการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนในพื้นที่นี้กว่า 22 ล้านคน/ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87 ของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ การที่มีนักท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในบริเวณย่านนี้มาก ทำให้ไม่เกิดการกระจายของรายได้ และมีความแออัดสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม
นอกจากแผนการจัดการ 5 แผนแล้ว ยังมีนโยบายการปรับปรุงทางเดินเท้า ที่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 54 ที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย หรือที่เรียกว่า ‘เดินดี’ ส่วนที่เหลือยังนับว่า ‘เดินได้ แต่ไม่ดี’
ย่านโยธี- ราชวิถี จากโรงพยาบาลหลายแห่ง พัฒนาสู่ย่านบริการสาธารณะ
ย่านโยธี- ราชวิถีเป็นย่านที่นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางการแพทย์และบริการสาธารณะที่มีการรวมกลุ่มของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่มากที่สุดในประเทศ รวมทั้งสถาบันวิจัย สถานศึกษาและสถานที่ราชการ นอกจากนั้นย่านนี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของเมือง อย่างไรก็ดี การเชื่อมต่อกันของเส้นทางและสมาชิกภายในยังเป็นเรื่องที่ขาดอยู่
สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยการเสนอจากนักภูมิสถาปัตย์ และประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สาธารณะ โดยจัดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนและบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน เนื่องจากย่านนี้มีพื้นที่ว่างทั้งหมดกว่า 360,000 ตร.ม. โดยเป็นพื้นที่หน้าหน่วยงานราชการถึง 120,000 ตร.ม. ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีการล้อมรั้ว กั้นกำแพงทึบเพื่อแบ่งแยกขอบเขตของตน ทำให้ขาดการเชื่อมต่อของแต่ละหน่วยงานและไม่เป็นมิตรต่อการใช้พื้นที่เดินเท้าของคนทั่วไป
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเสมือนศูนย์รวมของหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ จึงน่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นย่านบริการสาธารณะ ที่เป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์พื้นที่ทดลองเทคโนโลยี รวมทั้งต้องการให้เป็นต้นแบบของพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบมาเพื่อทุกคน หรือยูนิเวอร์แซลดีไซน์อีกด้วย
ย่านทองหล่อ-เอกมัย พื้นที่แห่งการทดลอง- สร้างสรรค์สิ่งใหม่
แม้ว่าย่านทองหล่อ-เอกมัย จะถือว่าเป็นย่านใหม่ที่เพิ่งโด่งดังได้ไม่นานนี้ แต่สองย่านนี้ก็นับได้ว่าเป็นแหล่งรวมธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีความสดใหม่ไม่เหมือนใคร เป็นเสมือนพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะมาเปิดกิจการเล็กๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ร้านกาแฟ หรือโค-เวิร์คกิงสเปซต่างๆ
ลักษณะ 5 อย่างที่ทำให้ย่านนี้มีความน่าสนใจในการเป็นต้นแบบการฟื้นฟูคือ 1.ทองหล่อ-เอกมัยเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายจากระบบสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ 2. มีพื้นที่ว่างที่ซ่อนตัวระหว่างช่องว่างเล็กๆ ของตึกสูงหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะขนาด 9 ไร่ บริเวณใต้สะพานเชื่อมซอยเอกมัยและถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งแม้แต่หลายๆ คนในพื้นที่ก็ยังไม่รู้ว่าเอกมัยมีพื้นที่สีเขียวส่วนนี้ 3.แม้ซอยทองหล่อและเอกมัยต่างมีระยะทางกว่า 2-2.5 กิโลเมตร ถนนที่เชื่อมกันกลับมีเพียง 3 เส้น 4.คลองเป้ง ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำที่มีพื้นที่หลบซ่อนอยู่ระหว่างช่องว่างของตึก และ5. การเดินด้วยเท้านั้นสามารถเดินได้ต่อเนื่องเฉพาะซอยทองหล่อ อย่างไรก็ตามในเอกมัยยังพบว่ามีฟุตบาทบางช่วงที่ไม่เอื้อต่อการเดิน
แผนพัฒนาของพื้นที่ย่านทองหล่อ- เอกมัย จะพัฒนาโดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายย่อย ในการแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนที่เข้ามา ได้มีพื้นที่เปิดโล่ง หรือพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมร่วมกัน หรือการปรับเปลี่ยนทัศนียภาพเช่น บริเวณคลองเป้งที่ปัจจุบันน้ำเน่าเสีย ทำให้บ้านในละแวกนั้นเลือกที่จะหันหน้าบ้านไปทางอื่น เพื่อไม่ให้เชื่อมต่อกับคลองดังกล่าว จึงทำให้เกิดพื้นที่บริเวณหลังบ้านที่ไม่มีการดูแล แต่หากเข้าไปพัฒนาปรับปรุงให้พื้นที่ส่วนนี้สามารถเดินได้ ใช้งานได้ ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม และสร้างเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ อย่างร้านขายของ หรือร้านกาแฟ ก็น่าจะทำให้พื้นที่ที่อยู่ในซอกนี้ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ปิยะบุตร เทียนคำศรี ผู้เข้าร่วมงานจากเขตบางเขน กล่าวว่า เท่าที่ดูวันนี้ก็เห็นว่ามีการพัฒนา ส่วนตัวในพื้นที่ที่อาศัยไม่ได้อยู่ในแผนการพัฒนานี้ แต่ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน บางเขนมีปัญหามากเรื่องท่อ และการระบายน้ำ จึงทำให้มีน้ำท่วมขัง ผนังทรุดตัว สิ่งที่เขาอยากเห็นมากขึ้นในชุมชนคือเรื่องการดูแลความปลอดภัย เช่น การติดกล้องวงจรปิด กระจกโค้ง เพื่อดูรถในซอยเล็กๆ เพราะปัญหารถชนในซอยเล็กซอยน้อยนั้นเกิดขึ้นบ่อย
วิรชัย แซ่อึ้ง ผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมงานอีกคนจากบางซื่อเล่าว่า ปัญหาในชุมชนที่พบหลักๆ เป็นเรื่องทางเดินที่แคบ เล็ก และไม่มีที่กั้นกันตกคลอง เมื่อเดินแล้วมีโอกาสตกคลองได้ง่าย ยิ่งสำหรับคนที่พิการทางสายตาที่ต้องใช้ไม้เท้าสัมผัสเลาะไปตามพื้นนั้นยิ่งลำบาก การไปป้ายรถเมล์ หรือเดินทางไปขึ้นรถเมล์ก็ค่อนข้างลำบากเพราะต้องอาศัยคนรอบข้างในการช่วยเหลือ สิ่งที่ต้องการคือการปรับปรุงพื้นฟุตบาทที่มีทางลาดและเรียบเสมอกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้พิการทางสายตาเช่นเขา รวมทั้งคนที่ใช้วีลแชร์หรือคนอื่นๆ เขาเสริมว่าแม้ฟุตบาทบางส่วนมีการติดตั้งเบรลล์บล็อก หรือแผ่นขรุขระสีเหลือง เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ไม้สัมผัส แต่ส่วนใหญ่กลับติดตั้งแบบไม่ถูกต้อง หรือถูกทับ บดบังโดยแม่ค้าที่ขายของ หรือการตั้งป้ายต่างๆ การเดินทางตามแผ่นเบรลล์บล็อกในไทย จึงไม่ใช่การเดินทางที่ปลอดภัยนัก และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมความรู้ให้แก่คนที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ด้วย นอกเหนือจากการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้ใช้ประโยชน์จากเมืองได้อย่างเท่าเทียมกัน
ขอบคุณที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2016/06/66507