“กรุงเทพฯ 250” กิมมิกโปรเจ็กต์ฟื้นฟูเมืองเขตชั้นใน 17 เขต เนรมิตเป็น 7 ย่านประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ธนบุรี, ศูนย์พาณิชยกรรมปทุมวัน-บางรัก, ราชการ-ที่อยู่อาศัยดุสิต-พญาไท, ที่อยู่อาศัยยานนาวา-บางคอแหลม, ศูนย์กลางพาณิชยกรรมตากสิน และที่อยู่อาศัยจรัญสนิทวงศ์ จากเมืองเก่าสู่เมืองอนาคต
ตามที่ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อยากจะพัฒนาพื้นที่ให้ไฉไล ให้รับเทรนด์ของเมืองและการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงในปี 2575 เป็นปีที่กรุงเทพฯจะครบรอบ 250 ปีพอดี
ถึงระยะเวลาจะดูยาวนานนับ 10 ปี แต่ “คุณชายหมู” ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าก่อนจะครบวาระปี 2560 จะผลักดันย่าน “กะดีจีน-คลองสาน” เขตพื้นที่ประวัติศาสตร์ธนบุรี เป็นโปรเจ็กต์นำร่อง
เนื่องจากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด มีความได้เปรียบทำเลที่ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นหนึ่งในย่านเก่ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ
โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจาก “รถไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์” บนพื้นที่ริมน้ำ ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมีโอกาสจะเติบโตอีกมาก
สำหรับงบประมาณในการพัฒนาโครงการ “กทม.” ประเมินว่าจะใช้จำนวน 390 ล้านบาท แยกเป็น 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน วงเงิน 70 ล้านบาท เพื่อปรับปรุง
พื้นที่ริมน้ำให้มีลักษณะสอดคล้องกับความเป็นย่านประวัติศาสตร์ และออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยและเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง
2.สร้างศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวทางน้ำ-จักรยาน ใต้สะพานพุทธ วงเงิน 100 ล้านบาท ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่านกะดีจีน-คลองสาน และเชื่อมระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร อีกทั้งยังมีโครงสร้างของท่าเรือเก่า ออกแบบให้สอดคล้องกับรูปแบบสะพานพุทธเดิม ถือเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ย่านนี้
3.โครงการสะพานด้วนสวนลอยฟ้า วงเงิน 55 ล้านบาท ให้เป็นทางเดินสีเขียวและทางจักรยานเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่าง “ธนบุรีกับพระนคร” ให้เกิดความสะดวกในการสัญจร 4.โครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำย่านคลองสาน วงเงิน 90 ล้านบาท
เพื่อเพิ่มพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ โดยเน้นการเป็นพื้นที่สีเขียว บริเวณหน้าอุทยานสวนสมเด็จย่า ออกแบบเป็นสวนลอยน้ำ และ 5.ปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนโอชาท่าดินแดง วงเงิน 75 ล้านบาท จะปรับปรุงเป็นถนนคนเดิน ใส่กลิ่นอายความเป็นจีนลงไป ทั้งจัดระเบียบทางเท้าและแผงลอย
จากทั้ง 5 โครงการ “กทม.” มีแผนจะเริ่มโครงการสะพานด้วนสวนลอยฟ้าก่อนเป็นลำดับแรก โดยดึงภาคเอกชนมาร่วมพัฒนาโครงการ เช่น ทาสี เป็นต้น
หากโครงการประสบความสำเร็จ “กทม.” มองว่า จะเกิดผลดีครบทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจจะสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึง 3.36 แสนล้านบาท ส่วนการค้าและบริการ จากการดำเนินงานของเอกชนจะมีมูลค่า 24,000 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น 34,000 ตำแหน่ง และมูลค่าภาษี 5,300 ล้านบาทต่อปี
สำหรับด้านสังคม จะเกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 6 เท่า จากเดิม 25,000 ตร.ม.เป็น 150,000 ตร.ม. พื้นที่ริมน้ำเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดิม 700 เมตร เป็น 2,100 เมตร และทางจักรยานเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากเดิม 4,000 เมตร เป็น 12,000 เมตร
ขอขอบคุณที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439123422