กทม.วางแผนฟื้นฟูเมืองหลวง พัฒนาให้รองรับ 17 ปีข้างหน้า ครบรอบ 250 ปีกรุงเทพฯ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าแก่ และแหล่งโบราณสถานในพื้นที่กทม. เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากต้องอาศัยความเห็นชอบจากคนในชุมชน ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อจิตใจโดยขณะนี้ถึงเวลาที่จะพัฒนากทม. ย่านเมืองเก่าให้เป็นพื้นที่ อยู่อาศัยน่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้ให้สำนักการผังเมือง ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (ยูดีดีซี) ดำเนินการอย่างเต็มที่ เชื่อมั่นว่าโครงการกรุงเทพฯ250 หรือความหมายที่ว่าในอีก 17 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯจะครบอายุ 250 ปี ในพ.ศ.2575 ความเป็นอยู่ของคนเมืองจะดีมากยิ่งขึ้น
ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวว่า โครงการกรุงเทพฯ 250 คือ การพัฒนาระบบฟื้นฟูย่านเก่าแก่ที่มีศิลปะ วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ของ กทม.ให้มีศักยภาพควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายของคนในชุนชน เชื่อมโยงระบบการสัญจรอย่างมีประสิทธิภาพ เรือ ราง และล้อ
โครงการที่สามารถเริ่มทำได้ทันทีประกอบด้วย 5 พื้นที่นำร่อง 1.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีน ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท 2. โครงการศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวทางน้ำ จักรยาน ใต้สะพานพุทธ 100 ล้านบาท 3. โครงการสวนลอยฟ้าสะพานพระปกเกล้า 55 ล้านบาท 4. โครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำย่านคลองสาน 90 ล้านบาท และ5. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนโอชาท่าดินแดง 75 ล้านบาท
สำหรับ พื้นที่ศักยภาพแห่งอื่นๆ เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ ควรพัฒนาพื้นที่สีเขียว พื้นที่ริมน้ำ บริเวณย่านท่าช้าง-ท่าเตียน พัฒนาย่านราชดำเนิน ให้ทันสมัยสอดคล้องความเป็นแห่งประวัติศาสตร์การเรียนนรู้ ย่านบ้านหม้อ-พาหุรัด รักษาความเป็นเอกลักษณ์วิถีชีวิต ต่อด้วยปทุมวัน-บางรัก ส่งเสริมให้เกิดการเดินทะลุซอย
ย่านสีลม-สาทร ปรับปรุงให้เป็นอาคารสีเขียว ถนนราชดำริ-ราชประสงค์ เพิ่มต้นไม้ให้ร่มรื่น ปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วนสายศรีรัช ให้กลายเป็นทางด่วนจักรยาน ต่อด้วยย่านหัวลำโพง-รองเมือง เป็นพื้นที่รอยต่อเศรษฐกิจ ควรปรับให้มีพื้นที่พักผ่อนมากขึ้น
ย่านมักกะสัน ทำเป็นพื้นที่สาธารณะพื้นที่สีเขียว แก้มลิง ปรับปรุงโกดังเก่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ ย่านยานนาวา-ถนนตก-บางคอแหลม รองรับคนทำงานย่านสีลม มีพื้นที่ริมน้ำให้เพิ่มโครงข่ายการเดินทางให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ส่วนพื้นที่ศูนย์กลางพาณิชย์เริ่มที่ ย่าตากสิน พัฒนาจุดสัญจรให้กระจายมากขึ้น แต่คงความเป็นฝั่งธนบุรีเอาไว้ ต่อด้วยย่านวงเวียนใหญ่ ควรส่งเสริมภูมิทัศน์ ปรับทางเท้า จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ย่านดุสิต-พญาไท เป็นย่านราชการ-ที่อยู่อาศัย แม้จะมีโครงข่ายดีอยู่แล้ว แต่ระบบเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้า ไปทางตะวันออกและตะวันตกยังไม่มี
ย่านถนนโยธี-ราชวิถี ควรทำให้เป็นย่านราชการให้ดีมากขึ้น และย่านเจริญสนิทวงศ์ ประสบปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากไม่มีการเชื่อมโยงเส้นทางพื้นที่ธุรกิจ ดังนั้นต้องทำระบบขนส่งออกไปสู่พื้นที่ริมน้ำให้มากขึ้น ย่านบางขุนนนท์-ไฟฉาย ออกแบบวินจักรยานยนต์ ให้เปนระเบียบ ส่งเสริมเป็นพื้นที่การค้า
“2575 คนกรุงเทพฯ จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะเกิดขึ้นได้หากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และสื่อ ผลตอบแทนที่ได้จากการดำเนินการตามแผนอนาคต จะช่วยให้อนุรักษ์พื้นที่วัฒนธรรม มากถึง 6 แสนตารางเมตร เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ถึง 6 เท่า จัดสรรเส้นทางจักรยานเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า” ดร.นิรมล กล่าว