27 Jul 2015
การฟื้นฟูเมือง : อนาคตของกรุงเทพฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่า นอกจากกรุงเทพมหานครจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและยังเป็นศูนย์รวมของความสะดวกสบายต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมืองหลวงแห่งนี้ก็เป็นศูนย์รวมของปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งมลภาวะเป็นพิษ การคมนาคม และความแออัด ทำให้ผู้คนจำนวนมากพากันหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหา ด้วยการออกไปอยู่ชานเมือง ทำให้ย่านเมืองเก่าชั้นในของกรุงเทพฯ ถูกทิ้งร้างให้เกิดความเสื่อมโทรม ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนจึงมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นในขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว การฟื้นฟูเมือง มักจะมุ่งเน้นที่การปรับปรุงพื้นที่เมืองชั้นในให้มีศักยภาพสูง เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้น โดยสามารถเลือกใช้วิธีการฟื้นฟูเมืองได้หลายวิธี ได้แก่

1) การรื้อถอนและสร้างขึ้นมาใหม่ (Urban Redevelopment) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ซึ่งจะใช้ในพื้นที่ที่สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจนเกินกว่าจะแก้ไขปรับปรุง โดยจะมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมที่เสื่อมโทรมออก แล้วทำการสร้างขึ้นใหม่ให้ตอบรับวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูพื้นที่นั้นๆ ตัวอย่างของการฟื้นฟูรูปแบบนี้ เช่น บริเวณสถานีรถไฟคิงส์ครอส (King’s Cross Station) และบริเวณย่านแคนารี่ วร๊าฟ (Canary Wharf) กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

2) การแก้ไขปรับปรุงพื้นที่ (Urban Rehabilitation) เป็นการฟื้นฟูที่มีการเปลี่ยนแปลงปานกลาง คือมีการปรับเปลี่ยนการใช้สอยของอาคารหรือพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์ที่ดินเดิม โดยเก็บอาคารและพื้นที่บางส่วนเอาไว้ และปรับเปลี่ยนการใช้งานบางส่วนให้สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน เช่นในโครงการ Le Viaduc des Arts กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงโครงการพัฒนาย่านริมน้ำของเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

3) การอนุรักษ์ (Urban Conservation) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด โดยเน้นการเก็บรักษาและพัฒนาสภาพแวดล้อมของย่านที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อรักษาบรรยากาศของความเป็นย่านเก่าแก่เอาไว้ รวมทั้งปรับปรุงให้ดูดีมีระเบียบและสอดรับกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ดังเช่น การอนุรักษ์ย่านซาวาระ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของเมืองชิบะ รวมทั้งการอนุรักษ์ชุมชนเก่าแก่ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

การฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นในนั้น จะช่วยให้เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ สามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดการกระจายตัวออกไปนอกเมือง ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองระบบสาธารณูปโภคและบริการขั้นพื้นฐานที่จะต้องสร้างตามไป การฟื้นฟูเมืองจึงถือเป็นหนทางที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้ย่านเก่าที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯมาอย่างยาวนาน ได้กลับมามีชีวิต ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนอยากที่จะกลับเข้ามาอยู่ในเมืองอีกครั้ง

share