18 Sep 2015
อีก 17 ปี เมื่อกรุงเทพฯขยาย

การบรรยายพิเศษเรื่อง การสร้างโอกาสจากความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่ง ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองเป็นผู้บรรยาย ในงานมหกรรมความรู้ ครั้งที่ 4 ที่จัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ประชาชาติธุรกิจ สรุปเนื้อหาในมุมมองของสื่อที่เกี่ยวข้องกับโอกาสธุรกิจมานำเสนอ โดยการบรรยายในครั้งนั้นได้สะท้อนให้เห็นในอีก 17 ปีข้างหน้าด้วยว่า เมื่อผังเมืองเปลี่ยน เทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีขึ้นรวดเร็วขึ้น การเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ขณะที่การคมนาคมต่าง ๆ โครงการรถไฟฟ้า ระบบรางที่เกิดขึ้น ทำให้การขนคนจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งของเมืองได้ในเวลาอีกไม่นานนั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

ประการแรก การพัฒนาระบบราง และจุดเปลี่ยนถ่าย สถานีต่าง ๆ จะกลายเป็นแนวโน้มในการฟื้นฟูเมืองรอบ ๆ สถานีทั้ง 246 สถานี ระบบรางจะร่วมกับระบบขนส่งรอง อย่างเช่น เรือ มอเตอร์ไซค์ รถตู้มากขึ้น

มีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตามมา อย่างเช่น การส่งสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แบบถึงบ้านจะเพิ่มมากขึ้น ในอีกมุมความสะดวกสบาย ทำให้คนจะเคลื่อนไหวน้อยลง เพราะการบริการทุกอย่างจะวิ่งเข้ามาหา ผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมาเช่น พื้นที่การค้าหดตัวเล็กลง ห้างใหญ่ไม่มีความจำเป็น เพราะคนสั่งสินค้าได้ และจัดมาส่งให้ได้ ส่วนตลาดสดต่าง ๆ ก็อาจจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองแทนก็ได้

ระบบไอซีทียังทำให้ชีวิตเป็นการเรียนรู้ทุกเวลา การพัฒนาฐานข้อมูลของเมือง ทำให้คนเมืองใช้สมาร์ทดีไวซ์ได้ในทุก ๆ ที่สามารถรับข่าวสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง เกิดพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบใหม่เพิ่มขึ้น

เช่นพื้นที่แห่งการพักผ่อนรูปแบบใหม่ ที่การสื่อสารเข้าไปไม่ถึงก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

มีอิสระการทำงาน ทำที่ไหนก็ได้ ส่งงานที่ไหนก็ได้ การทำงานเริ่มยืดหยุ่นมากขึ้น

ธุรกิจแบบที่เราจะเห็นในปัจจุบันบ้างแล้วคือการแชร์พื้นที่กันทำงานในรูปแบบต่างๆ เช่น โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ที่จะผุดขึ้นอย่างมากในอนาคต ในทางตรงกันข้าม อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ก็จะน้อยลงไป อาจจะเป็นตึกแถวโบราณหรือที่พักอาศัยที่มีอินฟราสตรักเจอร์รองรับครบครัน และกระจายตัวไปตามชุมชน หมู่บ้าน คนอาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์กลาง หรือเข้าเมืองแบบในปัจจุบัน

ระบบราชการต่าง ๆ จะหดลง จะมีการรวมศูนย์วันสต็อปมากขึ้น เกิดการรวมภาครัฐ เอกชน เช่น วันสต็อปการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่ร้านสะดวกซื้ออย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้

รสนิยมการท่องเที่ยว จากการนั่งรถทัวร์ไปที่เดียวกัน ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ระบบไอซีทีจะช่วยติดอาวุธให้กับชาวชุมชนย่านเก่า สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการได้จริง ติดต่อกับลูกค้าและพื้นที่ย่านเมืองเก่าราคาสูงขึ้น แนวโน้มการพัฒนาที่ดินเป็นการเช่ามากกว่าการขายขาด

เทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เราจะได้เห็นอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็กๆ ดูแลเรื่องมลพิษ มีพื้นที่สีเขียว การใช้เครื่องพรินต์ 3 มิติเข้าช่วยลดขนาดของงาน โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ดังนั้นธุรกิจบางชนิดสามารถที่จะกลับเข้าสู่ย่านเมืองเก่า อาคารตึกแถวบ้านพักสามารถทำได้ จึงเป็นโอกาสของย่านเมืองเก่าในอนาคต

การพัฒนาแหล่งพลังงานที่หลากหลาย เรื่องสิ่งแวดล้อม แนวโน้มจะหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น จากขยะในรูปแบบต่าง ๆ จากการพัฒนาทางจักรยาน ก็จะเป็นที่มาของการผลิตพลังงานและนำไปใช้ต่อไป

 

ขอขอบคุณที่มา : http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442473424

share