20 Jun 2015
ชาวบ้านร่วมสรุปผังแม่บท ฟื้นฟูกะดีจีน-คลองสาน

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดเวทีประชาพิจารณ์ “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน” (ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ 250) ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน เพื่อร่วมสรุปร่างผังแม่บทเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนส่งไปสู่ขั้นตอนตามกระบวนการต่อไป หลังดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองนำร่อง เพื่อเ…ป็นต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านเมืองเก่า ในวาระที่กรุงเทพมหานครจะครบรอบ 250 ปี ใน พ.ศ.2575 ซึ่งจัดว่าเป็นโครงการแรกของกรุงเทพฯและประเทศไทย ที่ได้นำยุทธศาสตร์การวางแผนด้วยเทคนิคการมองภาพอนาคต (Foresight) มาประยุกต์ใช้เพื่อเกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง

ซึ่งในผังแม่บทนี้ ได้หยิบยกพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญขึ้นมาดำเนินการก่อน จากการ “เลือก” และ “ออกแบบ” ด้วยการมีส่วนร่วมของชาวกะดีจีน-คลองสาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคีพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยุทธศาสตร์สำคัญ 5 จุดประกอบด้วย
1. ทางเดิน-ทางจักรยานริมน้ำย่านกะดีจีน
2. ศูนย์ท่องเที่ยวและจุดเปลี่ยนถ่ายเรือ-รถ-จักรยาน สะพานพุทธฯ
3. ทางเดิน-ทางจักรยานริมน้ำย่านคลองสาน
4. ถนนคนเดินโอชาท่าดินแดง
5. สวนลอยฟ้าสะพานพระปกเกล้าฯ
ซึ่งงบประมาณคร่าวๆคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 345 ล้านบาท

ด้าน ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผังเมือง เปิดเผยว่า สาเหตุที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเหตุผล 4 ประการคือ
1. เป็นย่านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งยังเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม แต่สามารถหลอมรวมและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
2. มีต้นทุนทางสังคมที่สูง ตลอดจนผู้นำท้องถิ่นและประชาชนที่กระตือรือร้น มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี ทำให้มีศักยภาพในการผลักดันและขับเคลื่อนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
3. กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยหลักคือการเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน อสังหาริมทรัพย์ริมน้ำ ตลอดจนการเจริญเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ทำให้เห็นปัจจัยของความไม่ยั่งยืนและความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้นี้
4. ตั้งอยู่บนทำเลยุทธศาสตร์ คืออยู่บนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นกระบวนการวางแผนและกิจกรรมต่างๆ จึงสามารถรับรู้ได้ง่ายและเป็นที่สนใจของสาธารณะ

 

 

…วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงาน

ขอขอบคุณที่มา : http://www.greennewstv.com

share